ดัชนีเศรษฐกิจเดือนธันวาคม 2558
ดัชนีเศรษฐกิจเดือนธันวาคม 2558

สองสองนักเศรษฐศาสตร์ หนึ่งนั้น ปรีดิยาธร เทวกุล เน้นการเงินการคลัง สองนั้น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เน้นด้านการตลาด
รัฐบาลจากการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐบาลพลเอกประยุทธคงตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูงว่า โดยอำนาจเบ็ดเสร็จที่คณะ คสช.ควบคุมอยู่นั้นคงจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเมืองก็ดี ประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจก็ดี แต่ดูเหมือนว่าระยะเวลา 1 ปี 8 เดือนนั้น ประเด็นการเมืองดูเหมือนจะควบคุมได้เฉพาะการออกมาโวยวายบนท้องถนน ส่วนเรื่องอื่นๆเช่นความปรองดองยังไม่มีสัญญาณที่บอกว่าจะเกิดขึ้น ส่วนปัญหาเศรษฐกิจดูเหมือนจะแย่ลงในยุค 1 ปีแรกส่วนในช่วง 6 เดือนหลังในยุคผู้นำทีมเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม้ว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเงินลงไปเป็นจำนวนมากกว่า 2 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นการบริโภค แต่ดูเหมือนทำได้เพียงชะลอไม่ให้เศรษฐกิจไหลลงไปอีก ส่วนอัตราการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจกลับไม่ได้กระเตื้องขึ้นในอัตราที่สัมพันธ์กับการอัดฉีดเงินลงไปในระบบแต่อย่างใด และถ้ายิ่งประเมินจากยอดเงินการลงทุนกับประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินแล้ว แสดงให้เห็นว่าประสิทธภาพของการใช้จ่ายเงินที่อัดฉีดลงไปนั้นส่งผลต่อเศรษฐกิจต่ำมาก อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามดูผลต่อเนื่องอีกสักพักหนึ่งโดยเฉพาะในเรื่องการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยขยายระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง สำหรับส่วนตัวขอยกเครดิตให้กับ ดร.สมคิดและทีมเศรษฐกิจหลายๆท่านที่ได้พยายามทำในสิ่งที่ควรจะทำอย่างดีที่สุด และขอเอาใจช่วยครับ
การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผลการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนธันวาคมปี 2558 ก่อนหักคืนเก็บได้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 5.51% แต่ยอดรวมการเก็บตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมเก็บได้น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.15% ถ้าพิจารณาจากตารางการเก็บภาษีจะเห็นว่าการบริโภคของประชาชนยังมีความผันผวนตลอดปี 2558 แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการบริโภคของประชาชนในกลุ่มฐานรากยังมีปัญหาขณะที่ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนกลุ่มบนก็มีความระมัดระวังมากอยู่แล้ว
เมื่อพิจารณาผลการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนหักคืนของเดือนธันวาคม จะเห็นว่าเหตุที่เดือนธันวาคมปีนี้เก็บได้เพิ่มขึ้นกว่า 5.5% ทั้งนี้เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีด้วยการให้การใช้จ่ายในวงเงิน 15,000 บาทระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 เป็นเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายได้ ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายทั้งที่จำเป็นและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายล่วงหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนมกราคม 2559 ก็ได้ ซึ่งคงต้องติดตามดูต่อไป
การส่งออก
การส่งออกเป็นค่าเงินเหรียญสหรัฐฯในเดือนธันวาคม 2558 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง -8.7% ส่งผลให้การส่งออกของไทยตลอดปี 2558 ลดลงประมาณ -5.7-5.8% ส่วนการนำเข้าตลอดทั้งปี 2558 ลดลงในช่วงเดียวกันของปี 2557 ประมาณ -11.1% และเนื่องจากอัตราการนำเข้าลดลงมากกว่าอัตราการลดลงของการส่งออก ส่งผลให้ไทยได้เปรียบในดุลการค้าเป็นมูลค่าประมาณ 11,650 ล้านเหรียญสหรัฐ
การส่งออกของไทยตลอดปี 2558 เป็นมูลค่าเงินบาทลดลงประมาณ -1.3% ขณะที่การนำเข้าทั้งปีลดลง -6.8% จากการที่การนำเข้าลดลงในอัตราสูงกว่าการส่งออก ทำให้ตลอดทั้งปีไทยได้ดุลการค้าประมาณ 319,297 ล้านบาท
ถ้าพิจารณาประเด็นการได้ดุลการค้าของไทยเป็นเงินเหรียญสหรัฐมากถึง 11,000 ล้านเหรียญ จะเห็นว่ามีส่วนช่วยให้ฐานะการเงินของประเทศเข้มแข็งขึ้น และด้วยเหตุที่อัตราค่าเงินบาทอ่อนตัวลงจากประมาณเหรียญละ 32 บาทเป็นเหรียญละประมาณ 35-36 บาท ทำให้ดุลการค้าเป็นเงินบาทสูงประมาณ 319,297 ล้านบาท ซึ่งเป็นสภาพคล่องในส่วนของธุรกรรมด้านการค้าระหว่างประเทศ
จะเห็นว่าสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2558 แตกต่างจากปี 2540 คือ ในปี 2540 นั้น การส่งออกของไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นแต่ไทยมีผลขาดดุลการค้าประมาณ 6-7% ของ GDP แต่ในปี 2558 การส่งออกมีมูลค่าลดลงแต่ไทยได้ดุลการค้าสูงประมาณ 2-3% ของ GDP ซึ่งส่งผลต่อฐานะการเงินของประเทศที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาถึงความเข้มแข็งด้านการผลิตแล้วจะเห็นว่าในช่วงก่อนและหลังปี 2540 นั้นประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะเพื่อเป็นฐานการส่งออก ทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง และความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทยก็เข้มแข็งเช่นกัน ซึ่งทำให้มีส่วนช่วยพยุงสภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่มีวิกฤตด้านการเมืองภายในเป็นสิบปีระหว่างปี 2549-2558 อย่างไรก็ตามระหว่างช่วงปี 2554-2557 แม้ไทยจะมีการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ไทยก็มีการขาดดุลการค้าที่สูงแม้ไทยจะได้ดุลการค้าในปี 2558 แต่ความสามารถในการแข่งขันของไทยเริ่มลดต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วงหลายประการ เช่น การเริ่มย้ายฐานผลิตของอุตสาหกรรมของต่างชาติที่เข้ามาฐานแรงงานของไทย อุตสาหกรรมหลักของไทยที่ความสามารถในการแข่งขันลดลง เช่นการเกษตร อุตสาหกรรมใช้แรงงาน และความไม่สามารถพัฒนาตนเองไปสู่อุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและบริการที่ใช้ฐานความรู้มากขึ้นทำให้ยากต่อการดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว จากเหตุผลดังกล่าวจะส่งผลให้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
อัตราเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อรวมเมื่อเทียบเดือนต่อเดือนแล้วลดลง -0.9% แต่เมื่อเทียบทั้งปีแล้วลดลงประมาณ 0.9% เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาในส่วนที่เป็นอาหารจะมีอัตราเพิ่มขึ้น 1.1% ขณะที่ส่วนที่ไม่ใช่อาหารลดลงประมาณ -2.0%
การวิเคราะห์
จากผลดัชนีทางเศรษฐกิจที่กล่าวข้างต้น ดัชนีจากภาษีมูลค่าเพิ่ม การส่งออก อัตราเงินเฟ้อ ล้วนแต่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปยังไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนนักว่า แนวโน้มการบริโภคของภาคประชาชนดีขึ้น ไม่ว่าผลการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังผันผวน การส่งออกที่ยากจะเพิ่มขึ้นจากเหตุผลหลัก 3 ประการ ประการแรกคือขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทย กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มที่ใช้แรงงาน ส่วนกลุ่มที่เกิดจากการย้ายฐานผลิตของบริษัทต่างประเทศก็ย้ายไปผลิตยังประเทศรอบๆไทย เช่น เวียตนาม อินโดนีเซีย และเมียนม่า ประการที่สองคือความไม่สามารถพัฒนาภาคการผลิตและบริการที่ต้องการฐานความรู้ที่เพิ่มสูงขึ้น และประการที่สามคือปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากฟองสบู่ของตลาดเงินตลาดทุนและส่งผลให้เกิดปัญหาต่อภาคการผลิตจริง
ความพยายามของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยออกมาตรการต่างๆมากมาย เช่น มาตรการกองทุนหมู่บ้านรวมประมาณ 60,000 ล้านบาท มาตรการเงินกองทุนตำบลละ 5 ล้านบาท ประมาณ 30,000 ล้านบาท การช่วยเหลือในรูปกองทุนเงินกู้ 100,000 ล้านบาทให้กับ SMEs การกระตุ้นการบริโภคด้วยการลดภาษีโดยให้ถือว่าการใช้จ่ายเป็นเงิน 15,000 บาทในช่วงวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 เป็นเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษี ฯลฯ
จากการพิจารณามาตรการต่างๆ เงินกู้ SMEs นั้นหมดอย่างรวดเร็วจนเกิดการเรียกร้องเพิ่มขึ้น จนเกิดเสียงวิจารณ์กันว่าเป็นการกู้ในลักษณะ Refinance มากกว่าการกู้เพื่อไปใช้ในการหมุนเวียนเชิงธุรกิจ ส่วนมาตรการกระตุ้นวงเงินใช้จ่าย 15,000 บาทนั้น ผลสะท้อนออกมาในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม พบว่าสามารถเก็บได้เพิ่มกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5.5% นับเป็นอัตราการเก็บที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงปี 2558 นับว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายได้ แต่เมื่อเทียบการเก็บตลอดปีแล้วพบว่ายังต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อยหรือประมาณ -0.15% แต่ถ้าพิจารณาผลในภาพรวมของมาตรการลดภาษี 15,000 บาท น่าจะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เพราะปรากฏว่ามีการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าที่นำเข้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น Smart Phones, iPads, computers หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ และการรับประทานอาหารในร้านหรูราคาแพงซึ่งมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามมาตรการลดภาษีการใช้จ่ายนี้ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนที่ดีมากในตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าขนาดใหญ่ แต่เป็นปัญหากับร้านค้าขนาดกลางและเล็กทั่วๆไปที่บรรดาผู้บริโภคต่างหันไปช็อปตามร้านค้าขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้มากว่าจะมีการนำเงินล่วงหน้ามาใช้โดยไม่จำเป็นนัก
มาตรการหลายๆมาตรการจึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่คาดหวัง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากได้เห็นความพยายามของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมเศรษฐกิจในการที่จะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆออกมา และเชื่อว่าถ้าไม่ใช่ทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์แล้ว รัฐบาลคงถูกวิจารณ์มากกว่าสมัยรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
ถ้าวิเคราะห์เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก เพราะมีปัจจัยหลักสองสามอย่างที่เชื่อมโยงกัน ปัจจัยแรกคือ ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกของจีนอยู่ระหว่างชะลอตัว ทำให้ปริมาณสินค้าหลายอย่างที่นำเข้าจากไทยในรูปของวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบต้องชะลอตัวตาม ปัจจัยสองตลาดเงินตลาดทุนของจีนมีแนวโน้มลดต่ำลงอีกจากปัจจุบันเป็นผลจากฟองสบู่แตก จะส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินในจีนตกต่ำ ธนาคารจะเกิดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ส่งผลต่อการบริโภคภายในของจีน ภาคการผลิตตกต่ำ คนว่างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการส่งออกของไทยซึ่งอาจรวมถึงการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นที่สองของโลก ดังนั้นการที่เศรษฐกิจจีนตกต่ำ ย่อมส่งผลต่อประเทศต่างๆทั่วโลกและค่อนข้างแน่นอนจะส่งผลต่อการลดลงของหลักทรัพย์ต่างๆทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา
เนื่องจากโครงสร้างภาคการผลิตของไทยค่อนข้างอ่อนแอ ความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างต่ำ จึงเห็นควรปรับโครงสร้างการผลิตให้แข็งแกร่ง ภาคเกษตรที่ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก การสร้างนักธุรกิจใหม่หรือความเป็นเจ้าของกิจการใหม่ๆทั้งภาคเกษตร ภาคการผลิต ภาคบริการ (local wisdom innovation, e-commerce และ applications เพื่อต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรมบริการ) สอดแทรกเทคโนโลยีด้านอินเตอร์เน็ตเข้ากับอุตสาหกรรมหลักทั่วไป (IoT หรือ internet of things) ตลอดจนการพัฒนานักธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยีที่เป็นแนวโน้มใหม่ๆ เช่น robotic technology, 3D printing technology, IT application for service sectors เป็นต้น
สรุป
ความพยายามในการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจนั้น เชื่อว่าถ้าหากรัฐพยายามกระตุ้นในระดับฐานรากแล้ว อัตราการหมุนเวียนของวงเงินจะเพิ่มมากขึ้นขณะเดียวกันการอัดฉีดวงเงินงบประมาณก็มีแนวโน้มลดน้อยลง แต่ถ้ายิ่งอัดฉีดเงินลงไปในระดับกลางและบนแล้ว เช่นการขยายวงเงินการเก็บภาษี มีส่วนหักค่าใช้จ่ายมากขึ้น รัฐอาจถูกกล่าวหาว่าช่วยแต่คนรวย อีกทั้งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเก็บออมมากกว่าถ้าหากมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้กลุ่มคนเหล่านี้ต่างระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่แล้ว เนื่องจากไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจโลกและของไทยเองจะชะลอตัวไปอีกนานเท่าไร โดยเฉพาะวิกฤตในประเทศไทยซึ่งมีสภาวะที่ถูกกดดันจากนานาอารยะประเทศอีกด้วย
สิ่งที่รัฐควรจะเน้นไปพร้อมๆกับการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคคือ การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ สร้างความเป็นเจ้าของให้กับกลุ่มนักประดิษฐ์พื้นบ้านเพื่อประโยชน์ด้านการเกษตร ด้านการบริการทั่วไป ตลอดจนการพัฒนานักธุรกิจใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นแนวโน้มของโลก