ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมีนาคม 2556
ผลการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมีนาคม 2556

นายกฯยิ่งลักษณ์และกิตติรัตน์ รมว.คลังจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้มั่นคงและยั่งยืนอย่างไร เป็นคำถามที่ต้องเร่งตอบ
ในรายงานการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้เขียนได้คาดการณ์จากผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในสองเดือนแรก และได้คาดว่าการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ลดลงจนอาจทำให้การเจริญเติบโตทั้งปีอาจใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหรืออาจโตในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้น่าสนใจที่จะติดตามดูว่า รัฐบาลจะหาแนวทางในการผลักดันการบริโภคภายในอย่างไร
อย่างไรก็ตาม พบว่าผลการเก็บภาษีหลังหักคืนแล้วในเดือนมีนาคม 2556 มีมูลค่าต่ำกว่าในเดือนเดียวกันของปี 2555 และเมื่อพิจารณาดูความต่อเนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้ในปี 2555 ทำให้คาดว่าแนวโน้มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 2556 อาจต่ำกว่าหรือในระดับมูลค่าที่ใกล้เคียงกับปี 2555 แสดงให้เห็นถึงอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภคเริ่มชะลอตัวลง
ในเดือนมีนาคม 2556 กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 57,190 ล้านบาท สูงกว่าในเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเก็บได้ 55,598 ล้าบาทหรือสูงขึ้นประมาณ 2.86% แต่เมื่อรวมยอดเก็บทั้งไตรมาสของปี 2556 ซึ่งมีมูลค่ารวม 175,888 ล้านบาทแล้วยังสูงกว่ายอดเก็บในไตรมาสแรกของปี 2555 เท่ากับ 161,063 ล้านบาทหรือสูงขึ้นประมาณ 9.20%
เมื่อพิจารณาผลของภาษีมูลค่าเพิ่มหลังหักคืนแล้วปรากฏว่าในเดือนมีนาคม 2556 เก็บได้ 37,190 ล้าบาทต่ำกว่าที่เก็บได้ในเดือน มีนาคม 2555 ซึ่งเก็บได้เท่ากับ 37,598 ล้านบาทหรือต่ำกว่า -1.09% อย่างไรก็ตามเมื่อรวมยอดการเก็บทั้งไตรมาสแรกแล้ว ในปี 2556 เก็บได้รวม 117,888 ล้านบาท สูงกว่ายอดที่เก็บได้ในปี 2555 ซึ่งเก็บได้รวม 104,263 ล้านบาทหรือสูงขึ้นกว่า 13.07%
เมื่อพิจารณาค่าคำนวนที่เป็นค่าเฉลี่ย 3 เดือน และมูลค่าที่พิจารณาอัตราเงินเฟ้อแล้ว จะเห็นว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้มีอัตราการขยายตัวที่ลดลง และมีค่าเฉลี่ยในไตรมาสแรกประมาณ 16.11% และ 16.44% ตามลำดับ
จะเห็นว่าผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงไตรมาสแรกปี 2556 มีอัตราโตที่ลดลงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม แสดงให้เห็นถึงโมเมนตั้มที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในด้านการบริโภคภายในเริ่มอ่อนตัวลง ทำให้กังวลว่าแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงบริโภคของภาครัฐในมาตรการหลายๆอย่างที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างรากฐานการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ยิ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเงินงบประมาณประจำปีและวงเงินตาม พรก.เงินกู้แล้วตามตารางข้างล่างแล้ว ทำให้เห็นว่าจำเป็นที่รัฐจะต้องผสมผสานให้สัดส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงการบริโภคให้ควบคู่ไปกับมาตราการการกระตุ้นเชิงการลงทุนให้เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
ผลการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในไตรมาสแรกมีแนวโน้มชะลอตัวและจากผลจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหลังหักคืนแล้วกลับต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน -1% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโมเม้นตั้มของการกระตุ้นการบริโภคภายในเริ่มหมดแรงลง ทำให้กังวลว่าการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 2556 อาจเก็บได้ในมูลค่าใกล้เคียงกับปี 2555 หรือมากกว่าเล็กน้อย ประกอบกับผลการค้าระหว่างประเทศมีการขาดดุลการค้าต่างประเทศใน 2 เดือนแรกสูงถึง -230,000 ล้านบาท ทำให้ประเมินได้ว่า การเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของไทยในปี 2556 นี้จะเกิดจากการลงทุนจากภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ส่วนการลงทุนจากภาครัฐนั้นอาจไม่สามารถส่งผลได้ในปีนี้ เพราะโครงการต่างๆกว่าจะเริ่มต้นได้คงจะเป็นปลายปี 2556 หรือต้นปี 2557 จึงอยากฝากเตือนผู้รับผิดชอบทั้งหลายให้สนใจกับแนวทางการวางแผนงานเพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ควรหาทางยกเลิกนโยบายประชานิยมแบบแจกเงินแต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจแบบฉาบฉวย แต่ให้หันไปสนใจกับการใช้เงินจำนวนเดียวกันในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบสร้างรากฐานเพื่อให้เกิดการขยายตัวแบบต่อเนื่อง