ยิ่งลักษณ์กับบทพิสูจน์ความจริงใจในการปราบคอรัปชั่น
ยิ่งลักษณ์กับบทพิสูจน์ความจริงใจในการปราบคอรัปชั่นหลังน้ำท่วม
น้ำท่วมใหญ่
ปี 2554 ประเทศไทยเกิดน้ำท่วม 2 ครั้ง ครั้งแรกต้นปี คุณอภิสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งหลังซึ่งกำลังท่วมอยู่และทุกฝ่ายต่างช่วยกันแก้ มีพวกขัดแข้งขัดขาบ้างแทนที่จะร่วมแรงร่วมใจแก้วิกฤติของชาติ ครั้งที่ 2 นี้มีคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเข้าดำรงตำแหน่งพอดี เลยต้องตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งเริ่มตั้งแต่ภาคเหนือเรื่อยมา เกิด “บางระกำ” โมเดลประมาณปลายเดือน ส.ค.ในท้องที่จังหวัดพิษณุโลกขึ้น เลยต้อง “ทุกข์ระกำ” มาจนถึงวันนี้ น้ำท่วมครั้งหลังนี้ต้องบอกว่าคนที่อายุไม่เกิน 70 ปีทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นน้ำท่วมครั้งไหนจะรุนแรงเท่าครั้งนี้ ผมเองเคยได้ยินแม่เล่าให้ฟังถึงยุคน้ำท่วมใหญ่ปี 2485 ตอนนั้นยังไม่เป็นวุ้นเลย แต่ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วน้ำท่วมปี 2485 กับปี 2554 ครั้งไหนจะรุนแรงกว่ากันเมื่อเทียบกับระบบการชลประทานที่แตกต่างกัน ผมอยากเชื่อว่าครั้งนี้มากกว่าครั้งแรกครับ
จากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากมายซึ่งอาจจำแนกเป็นเรื่องๆดังนี้
- ความเสียหายเกี่ยวกับผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นไร่นา สวนผลไม้ เป็นจำนวนมาก ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง บางส่วนของภาคอิสาน คิดเป็นจำนวนล้านๆไร่
- ความเสียหายจากน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง นิคมฯสหรัตนนคร นิคมฯโรจนะ นิคมฯไฮเทค นิคมฯบางปะอิน นิคมฯนวนคร นิคมบางกะดี นิคมเหล่านี้ส่วนใหญ่ผลิตสินค้าอิเลคทรอนิค รถยนต์ ตลอดจนชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคและชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อการส่งออก
- ความเสียหายพนักงานจำนวนมากกว่า 500,000 คนต้องตกงานเป็นเวลาหลายเดือนกว่าโรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเริ่มการผลิตใหม่
- ความเสียหายจากบ้านเรือน หมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก ที่ต้องจมน้ำ หรือต้องพังทลายเนื่องจากกระแสน้ำ รวมทั้ง เครื่องใช้ภายในบ้านต่างๆเช่น ทีวี ตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
- ความเสียหายของทรัพย์สินของชาติ โบราณสถาน แหล่งประวัติศาสตร์ที่ถูกน้ำท่วม ส่งผลต่อรายได้จากการท่องเที่ยว
- ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมถนนหนทาง ทางหวงสายหลัก ทางหลวงชนบท ถนนหนทางในเขตอปท. จำนวนมากมาย ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมมหาศาล ความเสียหายของเขื่อนกั้นน้ำ ทางน้ำที่เกิดจากการใช้ถุงทรายขนาดเล็กขนาดใหญ่แก้ปัญหาปกป้องน้ำท่วม
- ความเสียหายเชิงจิตวิทยาซึ่งไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ทั้งคนแก่ หนุ่มสาวที่กำลังตั้งตัว เด็กๆ ที่บางคนถึงกับหมดตัว
- ความเสียหายเชิงจิตวิทยาจากการสูญเสียชีวิตกว่า 300 ชีวิต แสดงให้เห็นระดับการพัฒนาประเทศ ศักยภาพและความสามารถในการให้ความช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาในยามฉุกเฉิน
- ความเสียหายในเรื่องความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการบริหารจัดการจากนักลงทุนต่างประเทศทั้งหลายถึงศักยภาพและความสามารถการบริหารจัดการความเสี่ยงจากน้ำท่วมมีมากเพียงใด
แผนฟื้นฟูของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
อยู่ระหว่างให้ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆจัดทำแผนเพื่อเสนอขออนุมัติจาก ครม.
นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการฟื้นฟูผู้ประสบมหาอุทกภัยครั้งนี้ไว้ 3 คณะ และสั่งการให้คณะกรรมการจัดทำและส่งแผนให้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเร็ว ทั้งนี้ แผนที่จัดทำจะมีทั้งแผนเร่งด่วน ระยะสั้น และแผนระยะยาวเพื่อจัดส่งให้ ครม.ภายในสัปดาห์หน้า ได้มีการประเมินงบประมาณการใช้จ่ายเบื้องต้นประมาณ 800,000-900,000 ล้านบาท โดยแผนเร่งด่วนจะใช้งบประมาณราว 100,000 ล้านบาท
จากการประเมินผลความเสียหายเบื้องต้นของพื้นที่การเกษตร มีจำนวนประมาณ 8.8 ล้านไร่ เป็นเกษตรกรจำนวน 2.66 ล้านราย ส่วนการเสียหายอื่นๆรอการสำรวจอยู่ สำหรับบ้านเรือนผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหาย จะพยายามช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 30,000 บาท ธกส.ได้มีแนวทางให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วมเบื้องต้นสามารถพักชำระหนี้ 3 ปี ไม่คิดดอกเบี้ย พร้อมปรับโครงสร้างรายที่กระทบหนัก เกษตรกรที่เสียชีวิตก็จะยกหนี้ให้เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับครอบครัวเผยได้รับผลกระทบแล้วกว่า 2.66 ล้านราย พื้นที่การเกษตร 8.8 ล้านไร่ ส่วนรายที่ได้รับผลกระทบมาก ก็จะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ เพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรกำหนดให้สินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกรายละ 1 แสนบาท หลังช่วงน้ำลด นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดตั้งศูนย์ซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรอีกด้วยโดยขณะนี้ได้โดยจากการสำรวจมี 32 ราย ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินก้อนใหญ่
แผนฟื้นฟูของรัฐบาลยังไม่ชัดเจนนัก คงต้องรออีกระยะหนึ่ง แต่อยากเสนอรัฐบาลว่าไม่จำเป็นต้องทำพร้อกันทั้งกระทรวง เนื่องจากความเสียหายครั้งนี้เกิดขึ้นมากถึง 29 จังหวัดจากเหนือลงถึงกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และน้ำก็จะลดลงเป็นพื้นที่ๆเช่นเดียวกัน ดังนั้นการฟื้นฟูสามารถทำได้ทันทีที่น้ำลด เช่น ที่จังหวัดนครสวรรค์ กำลังคิดจัดโครงการ “Big Cleaning Day” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมาก เพราะสามารถประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมในการดำเนินชีพตามปกติ เป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในที รัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณส่วนกลางให้ได้ทันที
นอกจากนั้นถ้าจังหวัดนครสวรรค์มีความพร้อมเกี่ยวกับทะเบียนผู้ได้รับความเสียหาย รัฐบาลก็ควรจะรีบให้ความช่วยเหลือตามแนวทางและแผนการฟื้นฟูผู้ประสบภัย จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเสียหายก่อนก็จะได้รับการฟื้นฟูก่อน ไม่จำเป็นต้องรอการฟื้นฟูพร้อมๆกันทั้งหมด
จะเห็นว่าหลังน้ำลดจะมีการใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมถนนหนทาง การขุดลอกคู คลอง การซ่อมแซมเขื่อนกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนครับระบบการควบคุมอาจหละหลวมทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นมากมาย
คราวนี้แหละจะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า มีความต้องการและจริงใจที่จะปราบปรามคอรัปชั่นจริงหรือไม่ อย่าลืมว่าคนไทยจำนวนมากยังไม่ลืมภาพแจกเงิน 2,000 บาท โครงการแจกตู้น้ำแสงอาทิตย์ ฯลฯ ที่ไม่มีการจัดการกับการทุจริตแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างถูกทำอย่างเป็นระบบตั้งแต่หัวจนถึงหาง
คุณยิ่งลักษณ์ครับ ผมอยากบอกว่าประเทศไทยมี “วิกฤติผู้นำ” จะเห็นว่าผู้นำแต่ละท่านที่ผ่านมาไม่มีบารมีเพียงพอที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชน ยกเว้น องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะการกระทำของพระองค์แสดงให้ประชาชนเห็นว่า พระองค์ทรงมีความจริงใจกับประชาชนของพระองค์ตลอดมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนชาวต่างประเทศสงสัยว่าเหตุใดประชาชนคนไทยจึงได้จงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยมากมายขนาดนี้ จริงอยู่ความน่าเชื่อถือและบารมีอยู่ที่ระยะเวลาด้วย แต่การเริ่มต้นต้องมีความจริงใจ แสดงให้ประชาชนเห็นเจตนาที่แท้จริง ดังนั้นการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเพื่อการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมคราวนี้ ต้องจัดการทันทีเมื่อมีมูลแห่งการทุจริต อย่างน้อยต้องไม่ให้ทำงานต่อไป แล้วส่งต่อให้กระบวนการยุติธรรมจัดการ อย่าลังเล ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีมัวแต่ลังเลแล้วบอกว่าไม่มีหลักฐาน ผมบอกได้เลยครับว่าถึงจุดจบแล้ว ท่านนายกฯต้องแสดงให้เห็นความจริงใจในการปราบคอรัปชั่นครับจึงจะได้รับความเชื่อถือและได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป ไม่ต้องกลัวถ้าจะต้องยุบสภา เพราะถ้าประชาชนเชื่อในความจริงใจ จะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกแน่นอน
อยากย้ำสุภาษิตหนึ่งซึ่งได้รับฟังต่อๆมาคือ
“ความจริงใจคือจุดแห่งการเริ่มต้น และเป็นจุดแห่งความสิ้นสุด” ถ้าต้องการความสำเร็จต้องเริ่มต้นจากความจริงใจ
ถ้าท่านนายกฯยิ่งลักษณ์จริงใจและจริงจังต่อการปราบคอรัปชั่นก็จะประสบผลสำเร็จ แล้วเมื่อนั้นชื่อเสียง เกียรติคุณจะขจรขจายทั่วแผ่นดิน
สรุป
หลังน้ำลดจะมีการใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมถนนหนทาง การขุดลอกคู คลอง การซ่อมแซมเขื่อนกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนครับระบบการควบคุมอาจหละหลวมทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นมากมาย
คราวนี้แหละจะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า มีความต้องการและจริงใจที่จะปราบปรามคอรัปชั่นจริงหรือไม่ อย่าลืมว่าคนไทยจำนวนมากยังไม่ลืมภาพแจกเงิน 2,000 บาท โครงการแจกตู้น้ำแสงอาทิตย์ ฯลฯ ที่ไม่มีการจัดการกับการทุจริตแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างถูกทำอย่างเป็นระบบตั้งแต่หัวจนถึงหาง
ท่านนายกฯต้องแสดงให้เห็นความจริงใจในการปราบคอรัปชั่นครับจึงจะได้รับความเชื่อถือและได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป