การป้องปรามการทุจริต
การป้องปรามคอรัปชั่น
คอรัปชั่นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จากรายงานองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ ดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทยมีค่าสูงขึ้นจากอันดับที่ 34 ในปี 2534 เป็นอันดับที่ 84 ในปี 2552 และอันดับที่ 78 ในปี 2553 ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อว่า การทุจริตคอรัปชั่นในภาคราชการ,มีมากขึ้นตามที่ประธานหอการค้าให้สัมภาษณ์ ในขณะเดียวกันทุกฝ่ายเชื่อว่ามีการเรียกค่าตอบแทนสูงขึ้นจากประมาณ 10% เป็น 20% เป็น 30% และล่าสุดประธานหอการค้าไทยถึงกับพูดว่าปัจจุบันมีการเรียกเงินถึง 50%
ความจริงแล้วความพยายามในการป้องปรามคอรัปชั่นในประเทศไทยมีมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่ามีการออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระ ปปช. (คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งชาติ) ให้มีอำนาจสอบสวนเอาความผืดกับนักการเมืองได้ เช่นเดียวกับจัดตั้งองค์กรอิสระ คตง. (คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน) จัดตั้ง ปปง. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามด้านการเงิน) กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการจัดตั้ง อบรมหน่วยงานตรวจสอบภายใน แต่ปรากฎว่าการคอรัปชั่นไม่ได้ลดน้อยลง แต่กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันวิธีการคอรัปชั่นก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ มีการพูดถึงคอรัปชั่นเชิงนโยบายมากขึ้น ทำให้ยากต่อการตรวจสอบและหาหลักฐานจากการกระทำทุจริตมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากคดีคอรัปชั่นแต่ละคดีค่อนข้างซับซ้อน เพราะผู้กระทำการทุจริตต่างก็พัฒนาวิธีการใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำให้การสอบสวนและการดำเนินคดีใช้เวลานานมากกว่าจะสิ้นสุด ทำให้ผู้กระทำการทุจริตไม่เกรงกลัวกฎหมาย อีกประการหนึ่งเนื่องจากนักการเมืองผู้อยู่ในอำนาจส่วนใหญ่มีพฤติกรรมแบบเดียวกันจึงไม่กล้าจัดการกันอย่างจริงจัง ทำให้คอรัปชั่นในประเทศไทยไม่มีขบวนการจัดการ จึงเพิ่มมากขึ้นๆ ในขณะเดียวกันการปราบปรามไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งจะเห็นจากการลงโทษนักการเมืองระดับรัฐมนตรีที่ทุจริตคอรัปชั่นนั้นมีเพียง 2 ราย ส่วนข้าราชการที่สามารถเอาโทษได้ส่วนใหญ่เป็นผู้น้อยที่ทำตามคำสั่งผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าเทียบระหว่างอัตราการทุจริตกับการลงโทษนั้นจะเห็นว่าน้อยมาก
การป้องปรามการคอรัปชั่นไม่สามารถดำเนินการโดยใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามอย่างเดียวเพราะจะต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก อีกประการหนึ่งการกล่าวหาคนใดคนหนึ่งกระทำการทุจริตนั้นไม่ง่ายนัก จะต้องหาหลักฐานให้ดี มิฉะนั้นอาจถูกฟ้องกลับในข้อหาหมิ่นประมาทก็ได้ ดังนั้นการที่จะลดปัญหาคอรัปชั่นได้จำเป็นที่คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมมือกัน โดยช่วยกันสอดส่องและช่วยเป็นหน่วยสอดแนมให้กับส่วนราชการที่มีหน้าที่โดยตรงด้วย และการป้องปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบจำเป็นต้องทำแบบบูรณาการ กล่าวคือ มีทั้งระบบการป้องกัน มีทั้งระบบการตรวจสอบ มีระบบการปราบปราม และมีขบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว และที่สำคัญจะต้องมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศน์เป็นเครื่องมือ ซึ่งขอนำเสนอแนวคิดดังต่อไปนี้
ระบบการป้องกัน
- การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศน์ในการแจ้งถึงคู่สัญญาระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ในแต่ละปีสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐมีจำนวนเป็นแสนฉบับต่อปี การตรวจสอบถ้ามีประชาชนร่วมช่วยกันสอดส่องจะเป็นผลดีต่อประเทศ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการป้องปรามคอรัปชั่น ซึ่งถ้าจัดทำเป็นเว็บไซ้ท์รายงานฐานข้อมูลเบื้องต้นของสัญญาระหว่างบริษัทเอกชนกับรัฐ เช่น ชื่อบริษัทคู่สัญญา ชื่อหน่วยงานภาครัฐ ลักษณะโครงการ วงเงินงบประมาณ ปีงบประมาณ ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญา ฯลฯ การจัดทำเป็นเว็บไซ้ท์และมีฐานข้อมูลข้างต้น จะทำให้ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าดูในเว็บไซ้ท์ได้ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ปราบปรามการทุจริตตรวจสอบพฤติกรรมการทุจริตอย่างกว้างขวาง ความต้องการกระทำการทุจริตใดๆก็จำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้น ทำให้การทุจริตกระทำได้ยากขึ้น หน่วยงานที่มีศักยภาพในการจัดทำเว็บไซ้ท์ลักษณะนี้ได้ทันที คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
- การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศน์ประกาศ ชื่อหน่วยงานที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดวันเวลาและสถานที่เสนอราคา รายละเอียดของรายการที่จะจัดซื้อจัดจ้าง ทั้ง อบต. อบจ. เทศบาล กระทรวง ทบวง กรม ทั่วทั้งประเทศ การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันในการเสนอราคา และจะมีผู้สนใจช่วยตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานที่มีศักยภาพในการจัดทำเว็บไซ้ท์ลักษณะนี้ได้ทันที คือ หน่วยงานกำกับระบบ GFMIS กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
การตรวจสอบ (Cross-check)
- ให้เชื่อมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศน์หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับจดทะเบียนทรัพย์สินเช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์พร้อมราคาทรัพย์สิน ของบุคคล นิติบุคคล เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมที่ดิน กับกรมสรรพากร การเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์นี้จะช่วยให้ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบรายรับรายจ่ายของบุคคลธรรมดาและ ของนิติบุคคลเพื่อประกอบการเสียภาษี การตรวจสอบลักษณะนี้จะช่วยป้องกันคอรัปชั่นได้ดี เพราะไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานการทุจริตซึ่งบ่อยครั้งไม่สามารถหาได้ เนื่องจากลักษณะข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นเรือ่งเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ไม่สามารถจัดทำเป็นเว็บไซ้ท์ได้ การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศน์เชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐด้วยกันหรือบริษัทเอกชนที่จำเป็น จะช่วยให้กรมสรรพากรสามารถมีข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องใช้บุคคลากรมากเกินไป
- ให้ผู้ค้าทองคำรายงานการซื้อขายทองคำแท่งที่มีมูลค่าสูงไปยัง ปปง. และให้สามารถเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์กับกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของระบบเงินทุนหมุนเวียนของทั้งบุคคล และนิติบุคคล
การบังคับใช้กฎหมาย การปราบปรามและขบวนการยุติธรรม
- หน่วยงานตรวจสอบ ปราบปรามและหน่วยงานในขบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ต้องรีบนำเสนอผลการสอบสวนเพื่อดำเนินการสั่งฟ้องหรือไม่ และศาลควรรีบดำเนินการสอบพยานและพิพากษาทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเกรงกลัวต่อการกระทำผิด
- การพิพากษาอัตราโทษควรให้สอดคล้องกับความมากน้อยของการคอรัปชั่น
- การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเสมอภาค
การปราบปรามคอรัปชั่นนั้น บางครั้งอาจต้องใช้เวลาไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา ถ้าบุคคลที่ประพฤติมิชอบนั้นเป็นผู้มีอิทธิพล มีอำนาจ การปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่จะถูกขัดขวาง อย่างไรก็ตามในกรณีที่หลักฐานการประพฤติมิชอบหรือส่อการทุจริตนั้นค่อนข้างชัดเจน การดำเนินการทางกฎหมายใดๆอาจทำได้หลังจากบุคคลผู้นั้นพ้นจากอำนาจและหมดอิทธิพล ดังเช่นประธานาธิบดีของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งถูกดำเนินคดีหลังจากออกจากตำแหน่งแล้ว การลดและการปราบปรามการทุจริตจึงต้องอาศัยหลักของการพัฒนาการเช่นกัน จะเร็วหรือช้าขึ้นกับว่าคนไทยทุกคนมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังหรือไม่ เพียงใด
ผู้นำเสนอแนวคิดนี้ขอเรียนว่า แนวคิดดังกล่าวข้างต้นเกิดจากการพูดคุยกันหลายๆท่าน ผ่านการวิเคราะห์ข้อดีข้อบกพร่องพอสมควร บางกรณีเคยจัดทำเป็นเว็บไซ้ท์แล้ว แต่ถูกยกเลิกหลังการปฏิวัติเมื่อปี 2549 โดยผู้บริหารของหน่วยงาน มิฉะนั้นเว็ปไซ้ท์นี้น่าจะเป็นเว็ปไซ้ท์ที่นิยมเปิดกันมากเว็ปหนึ่งครับ
ความจริงแล้ว กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร สามารถแสดงบทบาทในการป้องปรามคอรัปชั่นได้เป็นอย่างดี โดยใช้ระบบการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงิน ถ้าไม่สามารถชี้แจงได้ ก็สามารถจัดการในเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี ดังนั้นถ้าหากภาครัฐโดยกระทรวงการคลังให้ความสนใจในการจัดเชื่อมเครือข่ายเว็บไซ้ท์ดังกล่าวข้างต้น การหลบเลี่ยงภาษีก็จะทำได้ยากขึ้น การทุจริตคอรัปชั่นก็สามารถตรวจจับได้จากการไม่สามารถอธิบายแหล่งที่มาของเงิน แต่ในการจัดทำเว็บไซ้ท์ อยากให้ระมัดระวังงบประมาณการเพราะอาจมีการนำเสนอขอวงเงินงบประมาณอย่างไม่สมเหตุสมผล (แหกตาผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจ) ซึ่งถ้าเป็นกรณีดังกล่าว ต้องถือเป็นการคิดคอรัปชั่นตั้งแต่เริ่มต้นเลยครับ
ขอให้ทุกๆท่านที่มีความปรารถนาในการป้องปรามคอรัปชั่นอย่างจริงใจ จงประสบความสำเร็จดังต้องการด้วยเถิดครับ